เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
พระเสขะ 7 จำพวก ชื่อว่าเสขมุนี
พระอรหันต์ทั้งหลาย ชื่อว่าอเสขมุนี
พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าปัจเจกมุนี
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่ามุนิมุนี
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)
บุคคลโง่เขลาไม่รู้อะไร เพียงแต่นั่งนิ่ง ๆ หาชื่อว่าเป็นมุนีไม่
ส่วนบุคคลผู้ฉลาด เลือกชั่งเอาแต่สิ่งที่ดี ละทิ้งสิ่งที่ชั่ว
เหมือนบุคคลชั่งสิ่งของ จึงจะชื่อว่า เป็นมุนีแท้
ผู้ที่รู้โลกทั้ง 2 ก็เรียกว่า เป็นมุนี1(เช่นกัน)
ผู้รู้ธรรมทั้งของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ
ทั้งภายในและภายนอก ในโลกทั้งปวง
เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้อง
และตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี2
คำว่า พ้นขาดแล้ว อธิบายว่า จิตของมุนีหลุด พ้น หลุดพ้นดีแล้วจากราคะ...
จิตของมุนีหลุด พ้น หลุดพ้นดีแล้วจากโทสะ... จากโมหะ... จากอกุสลาภิสังขาร
ทุกประเภท รวมความว่า มุนีนั้นเป็นผู้ปลงภาระลงแล้ว พ้นขาดแล้ว
คำว่า ความกำหนด ในคำว่า ไม่มีความกำหนด ไม่เข้าไปยินดี ไม่มีความ
ปรารถนา ได้แก่ ความกำหนด 2 อย่าง คือ (1) ความกำหนดด้วยอำนาจตัณหา
(2) ความกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ... นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยอำนาจตัณหา... นี้ชื่อ
ว่าความกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ3

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ธ. 25/268-269/63
2 ขุ.สุ. 25/533/438
3 เทียบกับความในข้อ 12/58-59, ขุ.จู. 30/21/78

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :401 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
มุนีนั้นละความกำหนดด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความกำหนดด้วย
อำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละความกำหนดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งความ
กำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว มุนีจึงไม่กำหนด คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้
บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้นซึ่งความกำหนดด้วยอำนาจตัณหา หรือความกำหนดด้วย
อำนาจทิฏฐิ รวมความว่า ไม่มีความกำหนด
คำว่า ไม่เข้าไปยินดี อธิบายว่า พาลปุถุชนทุกจำพวกย่อมกำหนัด
พระเสขะ 7 จำพวก รวมทั้งกัลยาณปุถุชนย่อมยินดี ยินดียิ่ง ยินดีเฉพาะเพื่อถึง
ธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง
พระอรหันต์เป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้อง พึงมีใจ
เป็นอิสระ (จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า ไม่มีความกำหนด ไม่เข้าไปยินดี
คำว่า ไม่มีความปรารถนา อธิบายว่า ตัณหา ตรัสเรียกว่า ความปรารถนา
คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ1
ตัณหาที่เรียกว่าความปรารถนานี้ มุนีใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้
สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว มุนีนั้น
ตรัสเรียกว่า ไม่มีความปรารถนา

อธิบายคำว่า ภควา
คำว่า พระผู้มีพระภาค เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ
อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายราคะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโทสะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโมหะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายมานะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายทิฏฐิได้แล้ว

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 3/10-11

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :402 }